Home » Posts tagged 'ร่มร่อน'

Tag Archives: ร่มร่อน

Paragliding ร่มร่อนเหิรเวหา อิสระสำหรับคนกล้า

ความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่อยากบินดั่งนก เป็นแรงบันดาลใจให้มีการพัฒนาอากาศยานหลากหลายชนิดขึ้น จวบจนสามารถก้าวข้ามฟากฟ้าสู่ยานขนส่งอวกาศในยุคสมัยนี้ อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิวัฒนาการการบินที่ก้าวไปไกลลิบ แต่ยังมีผู้คนอยู่จำนวนไม่น้อยที่ยังคงฝันที่บินได้อยากจะบินได้อิสระเสรีอย่างแท้ดั่งนกบิน โดยไร้กรอบเกราะใดใดมาขวางกั้นเรือนกายกับสายลมที่วิ่งมาปะทะได้ จากแรงบันดาลใจนี้จึงก่อเกิดกิจกรรมอากาศยานขนาดเบาขึ้นมากมายหลายรูปแบบให้เราได้สัมผัสความรู้สึกนั้น หนึ่งในกิจกรรมกีฬาเหล่านั้นรวมถึง “ร่มร่อน” หรือ “พาราไกลด์ดิ้ง” (Paragliding)

พาราไกลด์ดิ้ง บินได้อย่างไร?

การเหิรบินได้ของพาราไกลด์ดิ้ง เริ่มจากการออกตัวหรือเทคออฟ ซึ่งหากมีสายลมแรงพอมาทำให้อากาศไหลผ่านปีกเพื่อสร้างแรงยกตัวขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องออกวิ่ง แต่ถ้าไม่มีก็จำต้องออกแรงวิ่งส่งแทน อย่างไรก็ตามหากความเร็วยังไม่พอสร้างแรงยกถึงแม้จะวิ่งไปจนสุดปลายเนินกระโดดแล้วก็ตาม ห้วงยามที่หลุดจากเนินร่วงลงจะมีพลังขับเคลื่อนอีกรูปแบบมาคอยทำหน้าที่แทน อันเกิดจากแรงดึงดูดของโลกกระทำต่อปีกทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ส่วนปัจจัยต่อมาที่จะทำให้ร่มลอยสูงขึ้นไปได้มากแค่ไหนก็ขึ้นกับมวลอากาศร้อนหรือลมร้อนที่เรียกกันว่า “เทอร์มอล” และกระแสลมที่เคลื่อนที่ปะทะสิ่งกีดขวาง เช่น แนวสันเขาแล้วพัดขึ้น มวลอากาศจะส่งให้ร่มยกตัวขึ้นล่องลอยไปเรื่อย ๆ ตามสภาพความลาดเอียงของภูเขา จวบจนพ้นระดับยอดภูเขาไปลมยกก็จะอ่อนลง ดังนั้นในการบินให้ได้ระยะทางไกล ๆ จึงต้องอาศัยการเกาะลมร้อนเพื่อไต่ระดับความสูงแล้วร่อนไปข้างหน้าจนไปเจอลมร้อนอีกจุดที่ลอยตัวขึ้นมา หาไม่แล้วร่มจะถึงลดระดับลงเรื่อย ๆ  

บิน บิน บิน บินไปเมื่อยังคงมีสายลม

 พาราไกลด์ดิ้ง จึงถือเป็นอากาศยานที่ได้มีความซับซ้อนมากมายอาศัยเพียงปีกหรือร่มรูปทรงลิ่มอากาศยาวรี ที่เป็นผ้าสังเคราะห์ชนิดพิเศษที่ลมไม่สามารถทะลุผ่านได้ สองข้างร้อยโยงกับเส้นเชือกประกอบไปด้วยสายพยุงและสายเบรกที่มีความเหนียวแข็งแรงเส้นใยผลิตจากเคฟล่าหุ้มด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ร้อยโยงกับชุดที่นั่ง (Harness) ของนักบินที่ออกแบบมาให้มีอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกที่ก้นในด้านหลังและด้านข้างคล้ายโฟมหนา ๆ รุ่นใหม่ ๆ จะมีแอร์แบ็ค โดยชุดที่นั่งจะอยู่ในลักษณะแขวน มีหลายแบบให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมทั้งแบบเดี่ยว แบบคู่ และเพื่อการแข่งที่มีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอนช่วยลดแรงต้านของลม นอกจากนี้ก็จะเป็นอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อค ถุงมือ รองเท้าหุ้มข้อ แว่นตา ร่มสำรอง และเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการบินเช่น เครื่องวัดความสูง วัดการร่วงหล่น วัดความเร็วลม GPS ถุงลมบอกทางลม ตลอดจนอุปกรณ์ยังชีพยามที่ร่วงในพื้นที่ห่างไกล

เมื่ออุปกรณ์พร้อมก็ใช่ว่าจะบินได้หากไม่ผ่านการเรียนฝึกฝนจนชำนิชำนาญจากครูฝึกเสียก่อน อาทิ ในเรื่องอากาศพลศาสตร์ การใช้อุปกรณ์ จากนั้นจึงไปสู่การฝึกภาคพื้นดินในการควบคุมร่ม ส่วนการขึ้นบินแรกเริ่มฝึกบนเนินเตี้ย ๆ จนสามารถขึ้นลงในระยะทางสั้น ๆ ได้ก่อนที่ครูฝึกจะนำขึ้นบินแบบคู่หรือ แทนเด้ม (Tandam) จนสามารถควบคุมปัจจัยในการบินได้ เมื่อครูฝึกมั่นใจก็จะปล่อยให้บินเดียวได้ ถึงกระนั้นนักบินก็จะต้องพกวิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อรายงานกับครูฝึกที่อยู่เบื้องล่าง ครั้นมาถึงจุดนี้แหละถึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักบินเต็มตัว สมมาตรปรารถนาในการสัมผัสความรู้สึกความอิสระดั่งนกโผบินอย่างแท้จริง